วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ระบบวัดแสง (Light Metering)

ระบบวัดแสง (Light Metering)

ในกล้องดิจิตอลจะมีระบบวัดแสงเช่นเดียวกับกล้องใช้ฟิล์ม ระบบวัดแสงทำหน้าที่ควรคุมปริมาณแสงที่จะตกลง Image Sensor ให้เหมาะสมในแต่ละภาพ ทำให้ได้ภาพที่สว่างพอดี (Normal Exposure) ไม่มืดดำ (Under Exposure) หรือขาวสว่าง (Over Exposure) เกินไป ระบบวัดแสงของกล้องดิจิตอลจะมีอยู่ 2-ลักษณะคือ ใช้ Sensor สำหรับวัดแสงโดยตรง โดยจะมี Light Sensor แยกออกมาสำหรับควบคุมปริมาณแสงโดยเฉพาะ กับใช้ Image Sensorในการกำหนดความมืดสว่างของภาพแทน Light Sensor
การปรับตั้งระบบวัดแสงของกล้องดิจิตอล สามารถทำได้โดยเข้าไปที่ Menu>Metering



ระบบวัดแสงของกล้องดิจิตอลแบ่งออกเป็น 4 ระบบใหญ่ ๆ ให้เลือกใช้งานคือ

1. ระบบวัดแสงเฉลี่ยทั้งภาพ ( Average Light-Meterting) เป็นการวัดแสงโดยการเฉลี่ยความสว่างของวัตถุในภาพทั้งหมด แล้วใช้ค่าเฉลี่ยที่ได้ในการเปิดรับแสง เหมาะสำหรับการถ่ายภาพตามแสง ไม่มีส่วนมืดหรือสว่างมากเกินไป ใช้งานได้ดีกับภาพทิวทัศน์
2. ระบบวัดแสงเฉลี่ยหนักกลางภาพ (Center-weight Average-Light-Metering) คล้าย ๆ กับระบบเฉลี่ยทั้งภาพ แต่มีการเน้นความสำคัญในบริเวณกลางภาพมากกว่าส่วนอื่นๆ ทำให้วัตถุที่อยู่กลางภาพมีผลต่อการวัดแสงมากกว่าส่วนอื่นๆ เหมาะสำหรับการใช้งานที่มีสภาพแสงไม่ยุ่งยากมากนัก ไม่มีส่วนมืดหรือสว่างมากจนเกินไป ใช้ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ ภาพบุคคล หรือถ่ายภาพตามแสงได้ดี
3. ระบบวัดแสงแบ่งพื้นที่ (Multi-segment Light-Metering) ระบบนี้จะมีการแบ่งพื้นในช่องมองภาพออกเป็นส่วนเล็ก ๆ ตั้งแต่ 64 ถึง 1000 ส่วน แต่ละส่วนจะวัดแสงในพื้นที่ของตนเอง แล้วนำค่าแสงมาประมวลผลเพื่อหาความเปรียบต่าง ความสว่างของพื้นที่จุดสนใจ ความสว่างของพื้นที่ส่วนใหญ่ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะภาพที่ควรจะเป็น และกำหนดค่าการเปิดรับแสงออกมา เป็นระบบวัดแสงที่ทันสมัยและชาญฉลาดมากที่สุด เหมาะกับการถ่ายภาพในทุกสถานะการณ์ ไม่ว่าจะเป็นภาพทิวทัศน์ ภาพบุคคล ภาพเคลื่อนไหว ภาพกลางคืน ภาพมีความแตกต่างของแสงมาก ๆ สามารถวัดแสงได้แม่นยำ เหมาะกับการถ่ายภาพที่ต้องการความรวดเร็ว หรือผู้ใช้ไม่ชำนาญในด้านการวัดแสงมากนัก
4. ระบบวัดแสงเฉพาะจุด (Spot Light-Metering) เป็นการวัดแสงจากพื้นที่ส่วนกลางภาพเท่านั้น เหมาะสำหรับผู้ที่ชำนาญในการถ่ายภาพมาก ๆ ใช้งานยาก แต่มีความแม่นยำสูงมากหากใช้งานได้ถูกต้อง
5. ระบบวัดแสงเฉพาะส่วนกลางภาพ (Partial Light -Metering) คล้ายระบบวัดแสงเฉพาะจุด วัดแสงเฉพาะส่วนกลางภาพ แต่พื้นที่ใหญ่กว่าแบบเฉพาะจุด ให้ความแม่นยำสูง แต่ใช้งานยากพอ ๆ กับระบบเฉพาะจุด







หากกล้องดิจิตอลที่ใช้งาน มีระบบถ่ายภาพแบบปรับตั้งเอง หรือ Manual, M ซึ่งเป็นระบบที่ผู้ใช้สามารถปรับตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ และขนาดช่องรับแสงได้ด้วยตนเอง ผู้ใช้จะทราบได้อย่างไรว่าปริมาณแสงที่มีอยู่ในขณะนั้น หากตั้งความเร็วชัตเตอร์ค่านี้ จะต้องใช้ค่าช่องรับแสงเท่าไรเพื่อให้ภาพที่ได้พอดี ไม่มืดหรือสว่างเกินไป หน้าที่ในการหาค่าความเร็วชัตเตอร์ หรือขนาดช่องรับแสงนี้เป็นหน้าที่ของเครื่องวัดแสง ผู้ใช้ต้องตั้งความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการใช้งาน ทำการวัดแสง และดูสเกลวัดแสง ถ้าสเกลวัดแสงอยู่ในทางแสดงว่าแสงน้อยเกินไป ต้องเปิดช่องรับแสงกว้างขึ้น (ตัวเลข F-Number น้อย) เพื่อให้สเกลวัดแสงมาอยู่ที่ตรงกลางหรืออยู่ในระดับ 0 คือ พอดี หรือผู้ใช้อาจจะตั้งขนาดช่องรับแสงที่ต้องการก่อนก็ได้ แล้ววัดแสงดูสเกล จากนั้นปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ได้สเกล 0 แทน
การวัดแสงจะกระทำต่อเมื่ออยู่ในระบบถ่ายภาพแบบปรับตั้งเองเท่านั้น หากเป็นระบบถ่ายภาพอัตโนมัติต่างๆ การวัดแสงและการปรับตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ หรือขนาดช่องรับแสง หรือทั้งสองส่วนจะเป็นแบบอัตโนมัติตามระบบการทำงานที่เลือกใช้

การตั้งระบบชดเชยแสง (Exposure Compensation)

กล้องดิจิตอลส่วนใหญ่ตั้งแต่มือสมัครเล่นไปจนระดับมืออาชีพ จะมีระบบชดเชยแสงอยู่ด้วย เพื่อควบคุมความมืดสว่างของภาพ แม้ว่ากล้องตัวนั้นจะไม่สามารถเลือกระบบวัดแสง หรือระบบถ่ายภาพได้ก็ตาม ระบบชดเชยแสงจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ระบบชดเชยแสงต่อเนื่อง สำหรับควบคุมความสว่างของแสงต่อเนื่อง และแสงธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ แสงจากหลอดฟลูออเรสเซนท์ แสงจากไฟทังสเตน ซึ่งถือเป็นแสงที่ส่องสว่างเป็นเวลานานต่อเนื่อง และระบบชดเชยแสงแฟลช สำหรับควบคุมความสว่างของแฟลชให้ได้ตามที่ต้องการ การใช้ระบบชดเชยแสงของกล้องดิจิตอลใช้งานได้ง่ายมาก โดยอาศัยดูภาพจากจอ LCD ถ้าภาพมืดเกินไปให้เพิ่มปริมาณแสง และถ้าแสงน้อยเกินไปให้ลดปริมาณแสงลง แต่การดูภาพจากจอ LCD อาจจะไม่แม่นยำมากนัก ถ้าใช้ควบคู่กับระบบ Preview หรือ Postview จะทำงานได้แม่นยำกว่า


การเข้าสู่ระบบชดเชยแสง ส่วนใหญ่จะเข้าที่ Menu > Exposure Compensation หรือเครื่องหมาย +- > ตั้งค่าชดเชยแสง หรือกดปุ่มชดเชยแสงแล้วหมุนวงแหวนเลือกค่าชดเชยแสงก็ได้
การชดเชยแสงจะกระทำเมื่อการทำงานของระบบวัดแสงไม่สามารถให้ภาพได้ดีอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ เช่น ภาพมืดเกินไปหรือสว่างเกินไป จากที่ต้องการ หาก
1.ภาพมืดเกินไป มักเกิดจากการถ่ายภาพย้อนแสง มีวัตถุสว่างในภาพมาก ๆ ทำให้ระบบวัดแสงทำงานผิดพลาด ภาพมืดกว่าที่ต้องการ ผู้ใช้กล้องต้องเพิ่มค่าแสง โดยการชดเชยแสงไปทาง + ภาพจะสว่างขึ้น
2. ภาพสว่างเกินไป มักเกิดจากวัตถุมีสีเข้ม หรือฉากหลังมีสีเข้มกว่าตัวแบบ ทำให้เครื่องวัดแสงทำงานผิดพลาด ภาพสว่างกว่าที่ต้องการ ผู้ใช้กล้องต้องลดปริมาณแสงลง โดยการชดเชยแสงไปทาง - ภาพจะมืดลง
วัตถุขาวให้ปรับแสงไปทาง +

วัตถุมีสีเข้มมาก ให้ปรับไปทาง -


การชดเชยแสงจะมากหรือน้อยขึ้นกับความต้องการให้ภาพเป็นอย่างไรเป็นสำคัญไม่มีค่าตายตัวหรือข้อกำหนดในการใช้งาน ซึ่งเมื่อใช้งานระบบชดเชยแสงไปนาน ๆผู้ใช้จะเริ่มรู้ว่าควรชดเชยแสงเท่าไรในภาพนั้น ๆ แต่ถ้าไม่ต้องการใช้ความชำนาญ ให้ใช้ระบบถ่ายภาพแบบ Preview ซึ่งกล้องจะแสดงภาพที่ถ่ายได้ก่อนบันทึกลงการ์ด หากภาพเป็นที่พอใจค่อยบันทึกลงการ์ด แต่ถ้าไม่พอใจ สามารถปรับเปลี่ยนค่าชดเชยแสงเพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการได้ จะได้ภาพที่มีความสว่างดังใจ ส่วนกล้องที่ไม่มีระบบ Preview อาจจะต้องถ่ายภาพ บันทึกลงการ์ด แล้วค่อยดูภาพ หากไม่พอใจก็ต้องลบภาพทิ้งแล้วถ่ายภาพใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะเสียเวลามากกว่า
ระบบชดเชยแสงแฟลชจะแยกออกจากระบบชดเชยแสงต่อเนื่อง สามารถเข้าไปใช้ระบบนี้ได้โดยการเข้าที่ Menu > Flash >Exposure Compensation หรือ +- การใช้งานเหมือนการใช้ระบบชดเชยแสงต่อเนื่อง แต่ให้ดูที่แสงแฟลชแทนว่าแสงแฟลชมากหรือน้อยเกินไป ไม่ใช่ดูภาพทั้งภาพ
ข้อจำกัดของระบบชดเชยแสงแฟลชก็คือ หากแสงแฟลชน้อยเกินไปเพราะแฟลชอยู่ห่างจากวัตถุมากเกินไป แม้จะชดเชยแสงแฟลชเพิ่ม ภาพก็จะไม่สว่างขึ้น เพราะเกินกำลังการทำงานของแฟลช

ระบบถ่ายภาพคร่อมค่าการเปิดรับแสง (Bracketing)

ระบบถ่ายคร่อมค่าการเปิดรับแสงจะมีอยู่ในกล้องดิจิตอลเกือบทุกรุ่นเช่นเดียวกับระบบชดเชยแสงสามารถเข้าสู่ระบบถ่ายภาพคร่อมได้โดยการเลือก Menu > Bracketing หรือเข้าไปที่ระบบถ่ายภาพคร่อมโดยตรง ซึ่งมักจะแยกออกเป็นระบบถ่ายภาพต่างหากที่ระบบการทำงานหลัก สัญลักษณ์จะเป็นสี่เหลี่ยมสามอันซ้อนกัน เป็นขาว เทา และดำ

เมื่อเข้าสู่ระบบถ่ายคร่อม กล้องจะให้เลือกค่าการถ่ายคร่อม เช่น +-0.3 EV หมายถึงจะถ่ายภาพทั้งหมด 3 ภาพ โดยมีค่าการเปิดรับแสง น้อยกว่าที่วัดแสงได้ 0.3 EV ตามค่าการวัดแสง และมากกว่าที่วัดแสงได้ 0.3 EV เป็นต้น จากนั้นกล้องจะเก็บภาพทั้ง 3 ภาพเอาไว้ ซึ่งผู้ใช้สามารถไปเลือกภายหลังได้ว่าภาพใดให้สีดีที่สุด




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น